บทคัดย่อ
การศึกษาแนวทางการเพิ่มผลิตภาพกลุ่มผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับผลิตภาพการผลิตและแนวทางในการเพิ่มผลิตภาพของกลุ่มผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว บ้านทุ่งบ่อแป้น โดยรวบรวมข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้ประสานงานของทรายทองกะลามะพร้าว ผลการวิจัยพบว่า ผลิตภาพรวมมีค่าระหว่าง 1.09 ถึง 1.28 และผลิตภาพมูลค่าเพิ่มระหว่าง 1.27 ถึง 2.33 สำหรับผลิตภาพย่อยพบว่า ผลิตภาพวัสดุ มีค่าระหว่าง 1.25 ถึง 1.86 ผลิตภาพแรงงาน มีค่าระหว่าง 3.90 ถึง 11.60 และผลิตภาพการจัดการ มีค่าระหว่าง 49.69 ถึง 150.70 การเพิ่มผลิตภาพวัสดุและแรงงานทำได้โดยการกำหนดมาตรฐานของงานและผลิตภัณฑ์ ด้วยการศึกษาวิธีการทำงานและการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการจัดกิจกรรมกลุ่มย่อยเพื่อลดการสูญเสียของปัจจัยการผลิต และแก้ปัญหาการผลิตอย่างเป็นระบบ
สรุป อภิปรายและข้อเสนอแนะ
1 สรุปผลการวิจัย
ผลิตภาพ จากการศึกษาผลิตภาพการผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ของกลุ่มผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว บ้านทุ่งบ่อแป้น ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2554 ในผลิตภัณฑ์ 5 ชนิด พบว่าผลิตภาพรวมของทุกผลิตภัณฑ์มีค่าใกล้เคียงกัน ดังตารางที่ 5.1 ผลิตภัณฑ์โคมไฟจากกะลามะพร้าวมีผลิตภาพรวมต่ำสุด เท่ากับ 1.09 หมายความว่าจากมูลค่าของทรัพยากร 100 บาท สามารถเปลี่ยนเป็นผลผลิตได้เป็นมูลค่า 109 บาท โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 1.27 เท่า สร้อยและกระปุกออมสินมีค่าผลิตภาพรวมเกือบเท่ากัน คือ 1.13 และ 1.14 ตามลำดับ แต่สร้อยสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่ากระปุกออมสิน ผลิตภาพมูลค่าเพิ่มของสร้อยคือ 2.33 ส่วนผลิตภาพมูลค่าเพิ่มของกระปุกออมสินคือ 1.61 โคมไฟรูปสัตว์มีค่าผลิตภาพรวมมากเป็นลำดับที่สอง มีค่า 1.19 และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 1.99 เท่า ผลิตภัณฑ์โมบายมีผลิตภาพรวมสูงสุด คือ 1.28 แต่โมบายสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในลำดับที่สอง คือมีค่าผลิตภาพมูลค่าเพิ่มน้อยกว่าของสร้อยอยู่ 0.11 (2.33-2.22)
ผลิตภาพย่อยของผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ชนิด มีการกระจายของค่าในลักษณะเดียวกัน คือ ผลิตภาพการจัดการมีค่าสูงสุด ผลิตภาพแรงงานมีค่าในลำดับที่สอง ส่วนผลิตภาพวัสดุมีค่าต่ำที่สุด ดังนั้นหากมีการเพิ่มผลิตภาพควรสนใจในเรื่องวัสดุก่อนเป็นอันดับแรก รองลงมาคือแรงงาน เหตุผลเนื่องจากค่าผลิตภาพย่อยของทรัพยากรใดมีค่าน้อยแสดงว่ามูลค่าต้นทุนของทรัพยากรนั้นมีค่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าของผลผลิตที่ได้
การเพิ่มผลิตภาพ จากการศึกษาแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ของกลุ่มผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว บ้านทุ่งบ่อแป้น พบว่า สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มที่มีความเป็นไปได้ปานกลาง แต่มีผลกระทบต่อผลิตภาพวัสดุและผลิตภาพแรงงานมาก คือ หลักการกำหนดมาตรฐานของงานและผลิตภัณฑ์ และหลักการ 3 T ด้วยการใช้เทคนิค การศึกษาวิธีทำงาน และการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบ
2. กลุ่มที่มีความเป็นไปได้มาก แต่มีผลกระทบต่อผลิตภาพวัสดุและผลิตภาพแรงงานปานกลาง คือ หลักการกำหนดความสูญเสียจากองค์ประกอบทรัพยากรการผลิต หลักการปรับทัศนคติของบุคลากรในองค์กร หลักการ 4 Zero และหลักการ 6 Steps ด้วยการใช้เทคนิค การจัดกิจกรรมกลุ่มย่อย
2 อภิปรายผล
การศึกษาผลิตภาพของกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว หมู่บ้านทุ่งบ่อแป้น ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง พบว่า ส่วนใหญ่กลุ่มได้เปลี่ยนแปลงจากการรวมตัวกันเพื่อร่วมกันผลิต เป็นการสถานประกอบการและลูกจ้าง หัวหน้ากลุ่มได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ประกอบการ และสมาชิกเปลี่ยนเป็นลูกจ้างที่รับงานไปทำที่บ้านหรือที่สถานประกอบการ สถานประกอบการการผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าวในหมู่บ้านทุ่งบ่อแป้น ได้แก่ ทรายทองกะลามะพร้าว สยามกะลามะพร้าว และกันยากะลามะพร้าว
การเพิ่มผลิตภาพสามารถทำได้โดยการพิจารณาปัจจัยการผลิตด้านวัสดุ มีค่าผลิตภาพวัสดุประมาณหนึ่งเท่าครึ่ง (ตาราง 5.1) และปัจจัยการผลิตด้านแรงงาน มีค่าผลิตภาพแรงงานประมาณห้าเท่า (ตาราง 5.1) ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยการผลิตทั้ง 2 มีสัดส่วนของมูลค่าต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดรวมกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ (ภาคผนวก 1)
ต้นทุนวัสดุ ต้นทุนแรงงาน
โคมไฟต้นมะพร้าว ร้อยละ 66.87-75.19 ร้อยละ 23.26-30.67
โคมไฟรูปสัตว์ ร้อยละ 76.879-83.57 ร้อยละ 15.86-22.32
กระปุกออมสิน ร้อยละ 76.47-79.22 ร้อยละ 19.48-22.06
โมบาย ร้อยละ 58.78-78.43 ร้อยละ 19.61-36.64
สร้อย ร้อยละ 90.00-90.63 ร้อยละ 9.38-10.00
การที่ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่เป็นวัสดุ สอดคล้องกับผลงานวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ผลตอบแทนในการลงทุนวิสาหกิจชุมชนประเภทกะลามะพร้าว ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ของ กมลมาศ บุญจันทร (2551) ที่พบว่าต้นทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสูงสุดคือ ต้นทุนวัตถุดิบทางตรง ดังนั้นหลักการกำหนดมาตรฐานของงานและผลิตภัณฑ์ และหลักการ 3 T จึงเป็นหลักการที่เหมาะสมในการเพิ่มผลิตภาพของกลุ่มผลิตภัณฑ์กะลา บ้านทุ่งบ่อแป้น เนื่องจากเป็นหลักการของเทคนิคที่ให้ผลชัดเจนต่อการใช้วัสดุและแรงงานในการผลิต
หลักการกำหนดมาตรฐานของงานและผลิตภัณฑ์ ควรเน้นการออกแบบให้ผลิตภัณฑ์ใช้งานง่ายและมีความคงทน (งานวิจัยของ วนิดา ลาวัณย์ทักษิณ: 2523) โดยใช้กรรมวิธีการผลิตที่ไม่ยุ่งยาก และใช้เวลาการผลิตไม่นาน ชูศักดิ์ จรูญสวัสดิ์ (2548) เสนอแนวทางการพัฒนาผลิต โดยเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่าย จดลิขสิทธิ์รูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ และทำสัญลักษณ์ในตัวผลิตภัณฑ์ให้สังเกตได้ง่าย นอกจากนั้นการมีซอฟต์แวร์เปิดเผยรหัส (Open Source) หลายตัวที่สามารถนำช่วยในการกำหนดมาตรฐานของงานและผลิตภัณฑ์ ยังสามารถทำให้เกิดประสิทธิผลและลดเวลาในการทำงานลงได้ เช่น การใช้ Avidemux ในการเก็บขั้นตอนการทำงานด้วยวีดิทัศน์ แทนการสำรวจด้วยการบันทึกขั้นตอนการทำงานเป็นสัญญลักษณ์หรือตัวอักษร และการจับเวลาด้วยนาฬิกาจับเวลา หรือการใช้ Blender ในการออกแบบผลิตภัณฑ์และถอดแบบผลิตภัณฑ์สู่การผลิต
ในตาราง 5.1 พบว่าผลิตภัณฑ์โคมไฟรูปสัตว์ และกระปุกออมสินมีค่าผลิตภาพการจัดการมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่น เนื่องจากลักษณะของผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดเป็นรูปสัตว์ที่ใช้ไม้เป็นส่วนประกอบมาก ซึ่งไม้เป็นวัสดุที่นำมาจากภายนอก การเจาะหรือตัดแต่งชิ้นกะลามีน้อย ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และใช้เวลาในการผลิตน้อยกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดการน้อย ค่าผลิตภาพการจัดการที่คำนวณได้จึงมีค่าสูง ทำให้หลักการเบื้องต้นในการเพิ่มผลผลิตบางหลักการไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ เช่น หลักการกำหนดความแน่นอน หลักการปรับระบบสื่อสาร และหลักการสูญเสียจากการตรวจสอบและการขนย้าย เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มผลิตภัณฑ์กะลา บ้านทุ่งบ่อแป้น มีผลิตภาพด้านการจัดการสูงอยู่แล้ว และสัดส่วนต้นทุนด้านการจัดการก็น้อยมาก อย่างไรก็ตามในเรื่องของการบริหารจัดการอาจเน้นที่การประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มยอดขาย เช่น นำข้อมูลเสนอในเว็บไซต์ www.thaitambon.com ซึ่งน่าจะได้ผลมากกว่า การนำเสนอใน http://kalatongbopan.gagto.com/ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
3 ข้อเสนอแนะ
ด้านวัสดุ ควรดำเนินการ
- ศึกษาการใช้วัสดุชนิดใหม่ที่สามารถใช้แทนไม้ หรือใช้ไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีราคาถูกกว่า แทนที่ของเดิมที่ใช้อยู่ ทบทวนแบบผลิตภัณฑ์ว่ามีวัสดุส่วนใดสามารถลดขนาด ตัดออก หรือใช้วัสดุอื่นแทนได้ เช่น การแก้ปัญหาการต่อกันไม่สนิทของกะลาและไม้ รวมถึงการพัฒนาการบรรจุหีบห่อที่มีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าวได้
- จดลิขสิทธิ์รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม
ด้านแรงงาน ควรดำเนินการ
- พัฒนามาตรฐานการทำงาน ใช้เทคนิคทางด้านการจัดการอุตสาหกรรม เช่น การศึกษาวิธีการทำงาน การวางผังโรงงาน ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้าช่วยในการดำเนินการได้ เช่น โปรแกรมเปิดเผยรหัส (Open Source Software)
- นำเทคนิคการจัดกิจกรรมกลุ่มย่อย เพื่อพัฒนาคุณภาพของระบบการผลิต
ด้านการจัดการ ควรดำเนินงาน
- ทำการประชาสัมพันธ์กลุ่ม ตัวผลิตภัณฑ์ สู่สากลทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยจะจัดทำเว็บไซต์เองหรือทำการการฝากข้อมูลในเว็บไซด์มาตรฐานที่เป็นที่รู้จักดี เช่น เว็บไซต์ของไทยตำบลดอตคอม (www.thaitambon.com) เพื่อสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จัก
- พัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้วัสดุร่วมกันได้ควบคู่ไปการผลิตผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว เช่น การพัฒนาน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น การทำถ่านจากเปลือกกะลามะพร้าว การใช้ใยมะพร้าว เป็นส่วนประกอบในการผลิตแผ่นดูซับเสียง เพื่อทดแทน พีวีซี เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น