การทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว
เรื่องและภาพ โดยระวีวรรณ โพธิ์วัง
ความเป็นมา
“มะพร้าว” เป็นพืชที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะในวิถีชีวิตของคนไทยได้นำมะพร้าวมาผูกพันกับชีวิตประจำวันมากมายหลายอย่าง นับตั้งแต่การนำมาบริโภค ปรุงอาหารคาวหวาน การนำส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าวมาใช้ในงานพิธีต่าง ๆ เช่น พิธีลงเสาเอก พิธีแห่ขันหมาก พิธีบวงสรวง และงานบุญต่าง ๆ ถ้าจะพูดถึงประโยชน์ของมะพร้าวโดยละเอียดเราจะพบว่าทุกส่วนของต้นมะพร้าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น เช่น
ราก
ใช้ทำสีย้อมผ้า และทำของใช้เครื่องประดับบ้าน เช่น ตะกร้า กระเช้าดอกไม้ กรอบรูป ฯลฯ
ลำต้น
ใช้ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ไม้กระดาน ฯลฯ
ทางมะพร้าว
ใช้ทำรั้ว ทำฟืน ฯลฯ
ใบมะพร้าว
ใช้มุงหลังคา ทำภาชนะใส่ของ หมวก ของเด็กเล่น ฯลฯ
ก้าน
ใช้ทำไม้กวาด ก้านดอกไม้ประดิษฐ์ มู่ลี่ ตะกร้า ฯลฯ
รกมะพร้าว
ทำเป็นของใช้ เช่น รองเท้า กระเป๋า หมวก กล่อง ฯลฯ
จั่นมะพร้าว
ทำโครงเรือ นำมาประดิษฐ์ของใช้ต่าง ๆ เช่น กรอบรูปเชิงเทียน ฯลฯ
ผลมะพร้าว
ส่วนที่เป็นเส้นใย และขุย ใช้ทำเบาะ เก้าอี้ ที่นอน พรมเช็ดเท้า เชือก ผสมดินเพาะชำ ตอนกิ่งต้นไม้ ฯลฯ ส่วนที่เป็นเนื้อใช้บริโภค น้ำมะพร้าวใช้ดื่มแก้กระหาย ทำน้ำส้มสายชู ฯลฯ
ส่วนของลูกมะพร้าวอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้คือ “กะลามะพร้าว” เมื่อถูกมนุษย์เอาเนื้อออกไปรับประทานหมดแล้วก็เป็นเศษวัสดุที่ไม่ค่อยมีราคาค่างวดสักเท่าไรคนสมัยก่อนมักนำไปใช้ทำเชื้อเพลิง หรืออย่างดีก็คิดเอาไปทำเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น กระบวย
ตักน้ำ ทัพพี ถ้วย ชาม ฯลฯ ความสำคัญของกะลามะพร้าวในสมัยก่อนมีค่าไม่มากนัก จึงมีการเปรียบเปรยคนที่ใช้ชีวิตอย่างไร้คุณค่าเหมือนกะโหลกกะลา ทางภาคใต้ผู้ที่ชอบเถลไถลไม่ทำอะไรเลย จะถูกเรียกขานว่า “ไอ้พลกไอ้ต้อ” เป็นการบ่งบอกถึงความไร้ค่าเสมอด้วยกะลา
ต่อมาภูมิปัญญาไทยหลายคนหลายแหล่งทั่วทุกภาคของประเทศ ได้คิดประดิษฐ์เพิ่มคุณค่าจากกะลาที่ไร้ค่ามาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่นอกจากจะทำเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังประดิษฐ์เป็นเครื่องตกแต่งบ้าน เช่น โคมไฟ ตะเกียงเจ้าพายุ ฯลฯ เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายสุภาพสตรี เช่น กระเป๋าถือ เข็มขัด เข็มกลัด ปิ่นปักผม สร้อย ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นที่นิยมของชาวไทย และชาวต่างชาติสร้างรายได้เพิ่มพูนให้แก่คนไทยที่ยากไร้ในชนบท
ผู้เขียนได้เดินทางไปศึกษาข้อมูลการทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวรูปแบบใหม่ที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีกลุ่มหัตถกรรมกะลามะพร้าวหลายแห่ง เพื่อนำมาจัดทำเอกสารคลังความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้าน ของสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สำหรับเผยแพร่และพัฒนาความรู้ นวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้กับครู บุคลากรทางการศึกษาและประชาชนที่สนใจ โดยได้รับการอำนวยความสะดวก จาก อาจารย์สุภานี อัครบวร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดพัทลุง เป็นผู้ให้ข้อมูลเบื้องต้นและช่วยประสานงานกับ นางเรณู ชูพิทักษณาเวช ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าวบ้านควนขนุน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และอาจารย์ส่องศรี ฤทธิรัตน์ ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง เขต 2 ได้พาไปพบ นายปลื้ม ชูคง ประธานกรรมการบริหารกลุ่มหัตถกรรมผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ตำบลชัยบุรี อำเภอเมืองฯ จังหวัดพัทลุง จากแหล่งเรียนรู้ทั้ง 2 แห่ง ทำให้ได้เรียนรู้ถึงความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ ความสมัครสมานสามัคคี กลมเกลียว ขยันหมั่นเพียร ของชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันพัฒนาฝีมือการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว จากสิ่งที่ด้อยค่าด้อยราคามาเป็นสินค้าส่งออกระดับประเทศ เพิ่มพูนรายได้ให้แก่ชุมชน แก้ไขปัญหาคนว่างงานและสร้างความเจริญ ก้าวหน้าให้แก่ครอบครัว ชุมชนได้อย่างน่าชื่นชมแม้ว่าการบริหารการดำเนินการจากแหล่งเรียนรู้ทั้ง 2 แห่งจะมีแนวทางที่ต่างกันตามวัตถุประสงค์ของผู้นำกลุ่ม ซึ่งจะกล่าวถึงในประวัติของทั้งสอง ท่านตอนท้ายของเรื่องอีกครั้งหนึ่ง แต่กลุ่มชุมชนของทั้ง 2 กลุ่มก็มีความสุข มุ่งมั่นใช้ฝีมือประดิษฐ์คิดค้นแปรรูป กะลามะพร้าวให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่รู้จักทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอยู่อย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น