วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การเพิ่มผลิตภาพกลุ่มผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

บทคัดย่อ

        การศึกษาแนวทางการเพิ่มผลิตภาพกลุ่มผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับผลิตภาพการผลิตและแนวทางในการเพิ่มผลิตภาพของกลุ่มผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว บ้านทุ่งบ่อแป้น โดยรวบรวมข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้ประสานงานของทรายทองกะลามะพร้าว ผลการวิจัยพบว่า ผลิตภาพรวมมีค่าระหว่าง 1.09 ถึง 1.28 และผลิตภาพมูลค่าเพิ่มระหว่าง 1.27 ถึง 2.33 สำหรับผลิตภาพย่อยพบว่า ผลิตภาพวัสดุ มีค่าระหว่าง 1.25 ถึง 1.86 ผลิตภาพแรงงาน มีค่าระหว่าง 3.90 ถึง 11.60 และผลิตภาพการจัดการ มีค่าระหว่าง 49.69 ถึง 150.70 การเพิ่มผลิตภาพวัสดุและแรงงานทำได้โดยการกำหนดมาตรฐานของงานและผลิตภัณฑ์ ด้วยการศึกษาวิธีการทำงานและการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการจัดกิจกรรมกลุ่มย่อยเพื่อลดการสูญเสียของปัจจัยการผลิต และแก้ปัญหาการผลิตอย่างเป็นระบบ    

สรุป อภิปรายและข้อเสนอแนะ

1 สรุปผลการวิจัย

ผลิตภาพ จากการศึกษาผลิตภาพการผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ของกลุ่มผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว บ้านทุ่งบ่อแป้น ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2554 ในผลิตภัณฑ์ 5 ชนิด พบว่าผลิตภาพรวมของทุกผลิตภัณฑ์มีค่าใกล้เคียงกัน ดังตารางที่ 5.1 ผลิตภัณฑ์โคมไฟจากกะลามะพร้าวมีผลิตภาพรวมต่ำสุด เท่ากับ 1.09 หมายความว่าจากมูลค่าของทรัพยากร 100 บาท สามารถเปลี่ยนเป็นผลผลิตได้เป็นมูลค่า 109 บาท โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 1.27 เท่า สร้อยและกระปุกออมสินมีค่าผลิตภาพรวมเกือบเท่ากัน คือ 1.13 และ 1.14 ตามลำดับ แต่สร้อยสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่ากระปุกออมสิน ผลิตภาพมูลค่าเพิ่มของสร้อยคือ 2.33 ส่วนผลิตภาพมูลค่าเพิ่มของกระปุกออมสินคือ 1.61 โคมไฟรูปสัตว์มีค่าผลิตภาพรวมมากเป็นลำดับที่สอง มีค่า 1.19 และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 1.99 เท่า ผลิตภัณฑ์โมบายมีผลิตภาพรวมสูงสุด คือ 1.28 แต่โมบายสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในลำดับที่สอง คือมีค่าผลิตภาพมูลค่าเพิ่มน้อยกว่าของสร้อยอยู่ 0.11 (2.33-2.22)
 ผลิตภาพย่อยของผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ชนิด มีการกระจายของค่าในลักษณะเดียวกัน คือ ผลิตภาพการจัดการมีค่าสูงสุด ผลิตภาพแรงงานมีค่าในลำดับที่สอง ส่วนผลิตภาพวัสดุมีค่าต่ำที่สุด ดังนั้นหากมีการเพิ่มผลิตภาพควรสนใจในเรื่องวัสดุก่อนเป็นอันดับแรก รองลงมาคือแรงงาน เหตุผลเนื่องจากค่าผลิตภาพย่อยของทรัพยากรใดมีค่าน้อยแสดงว่ามูลค่าต้นทุนของทรัพยากรนั้นมีค่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าของผลผลิตที่ได้
การเพิ่มผลิตภาพ จากการศึกษาแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ของกลุ่มผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว บ้านทุ่งบ่อแป้น พบว่า สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มที่มีความเป็นไปได้ปานกลาง แต่มีผลกระทบต่อผลิตภาพวัสดุและผลิตภาพแรงงานมาก คือ หลักการกำหนดมาตรฐานของงานและผลิตภัณฑ์ และหลักการ 3 T ด้วยการใช้เทคนิค การศึกษาวิธีทำงาน และการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบ
2. กลุ่มที่มีความเป็นไปได้มาก แต่มีผลกระทบต่อผลิตภาพวัสดุและผลิตภาพแรงงานปานกลาง คือ หลักการกำหนดความสูญเสียจากองค์ประกอบทรัพยากรการผลิต หลักการปรับทัศนคติของบุคลากรในองค์กร หลักการ 4 Zero และหลักการ 6 Steps ด้วยการใช้เทคนิค การจัดกิจกรรมกลุ่มย่อย

2 อภิปรายผล

          การศึกษาผลิตภาพของกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว หมู่บ้านทุ่งบ่อแป้น ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง พบว่า ส่วนใหญ่กลุ่มได้เปลี่ยนแปลงจากการรวมตัวกันเพื่อร่วมกันผลิต เป็นการสถานประกอบการและลูกจ้าง หัวหน้ากลุ่มได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ประกอบการ และสมาชิกเปลี่ยนเป็นลูกจ้างที่รับงานไปทำที่บ้านหรือที่สถานประกอบการ สถานประกอบการการผลิตผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าวในหมู่บ้านทุ่งบ่อแป้น ได้แก่ ทรายทองกะลามะพร้าว สยามกะลามะพร้าว และกันยากะลามะพร้าว
การเพิ่มผลิตภาพสามารถทำได้โดยการพิจารณาปัจจัยการผลิตด้านวัสดุ มีค่าผลิตภาพวัสดุประมาณหนึ่งเท่าครึ่ง (ตาราง 5.1) และปัจจัยการผลิตด้านแรงงาน มีค่าผลิตภาพแรงงานประมาณห้าเท่า (ตาราง 5.1) ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยการผลิตทั้ง 2 มีสัดส่วนของมูลค่าต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดรวมกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ (ภาคผนวก 1)          
                                 ต้นทุนวัสดุ                 ต้นทุนแรงงาน
โคมไฟต้นมะพร้าว           ร้อยละ 66.87-75.19     ร้อยละ 23.26-30.67
โคมไฟรูปสัตว์                 ร้อยละ 76.879-83.57    ร้อยละ 15.86-22.32
กระปุกออมสิน                ร้อยละ 76.47-79.22     ร้อยละ 19.48-22.06
โมบาย                            ร้อยละ 58.78-78.43     ร้อยละ 19.61-36.64
สร้อย                         ร้อยละ 90.00-90.63     ร้อยละ 9.38-10.00

การที่ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่เป็นวัสดุ สอดคล้องกับผลงานวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ผลตอบแทนในการลงทุนวิสาหกิจชุมชนประเภทกะลามะพร้าว ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ของ กมลมาศ  บุญจันทร (2551) ที่พบว่าต้นทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสูงสุดคือ ต้นทุนวัตถุดิบทางตรง ดังนั้นหลักการกำหนดมาตรฐานของงานและผลิตภัณฑ์ และหลักการ 3 T จึงเป็นหลักการที่เหมาะสมในการเพิ่มผลิตภาพของกลุ่มผลิตภัณฑ์กะลา บ้านทุ่งบ่อแป้น เนื่องจากเป็นหลักการของเทคนิคที่ให้ผลชัดเจนต่อการใช้วัสดุและแรงงานในการผลิต
หลักการกำหนดมาตรฐานของงานและผลิตภัณฑ์ ควรเน้นการออกแบบให้ผลิตภัณฑ์ใช้งานง่ายและมีความคงทน (งานวิจัยของ วนิดา  ลาวัณย์ทักษิณ: 2523) โดยใช้กรรมวิธีการผลิตที่ไม่ยุ่งยาก และใช้เวลาการผลิตไม่นาน ชูศักดิ์  จรูญสวัสดิ์ (2548) เสนอแนวทางการพัฒนาผลิต โดยเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่าย จดลิขสิทธิ์รูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ และทำสัญลักษณ์ในตัวผลิตภัณฑ์ให้สังเกตได้ง่าย นอกจากนั้นการมีซอฟต์แวร์เปิดเผยรหัส (Open Source) หลายตัวที่สามารถนำช่วยในการกำหนดมาตรฐานของงานและผลิตภัณฑ์ ยังสามารถทำให้เกิดประสิทธิผลและลดเวลาในการทำงานลงได้ เช่น การใช้ Avidemux ในการเก็บขั้นตอนการทำงานด้วยวีดิทัศน์ แทนการสำรวจด้วยการบันทึกขั้นตอนการทำงานเป็นสัญญลักษณ์หรือตัวอักษร และการจับเวลาด้วยนาฬิกาจับเวลา หรือการใช้ Blender ในการออกแบบผลิตภัณฑ์และถอดแบบผลิตภัณฑ์สู่การผลิต
ในตาราง 5.1 พบว่าผลิตภัณฑ์โคมไฟรูปสัตว์ และกระปุกออมสินมีค่าผลิตภาพการจัดการมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่น เนื่องจากลักษณะของผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดเป็นรูปสัตว์ที่ใช้ไม้เป็นส่วนประกอบมาก ซึ่งไม้เป็นวัสดุที่นำมาจากภายนอก การเจาะหรือตัดแต่งชิ้นกะลามีน้อย ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และใช้เวลาในการผลิตน้อยกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดการน้อย ค่าผลิตภาพการจัดการที่คำนวณได้จึงมีค่าสูง ทำให้หลักการเบื้องต้นในการเพิ่มผลผลิตบางหลักการไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ เช่น หลักการกำหนดความแน่นอน หลักการปรับระบบสื่อสาร และหลักการสูญเสียจากการตรวจสอบและการขนย้าย เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มผลิตภัณฑ์กะลา บ้านทุ่งบ่อแป้น มีผลิตภาพด้านการจัดการสูงอยู่แล้ว และสัดส่วนต้นทุนด้านการจัดการก็น้อยมาก อย่างไรก็ตามในเรื่องของการบริหารจัดการอาจเน้นที่การประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มยอดขาย เช่น นำข้อมูลเสนอในเว็บไซต์ www.thaitambon.com ซึ่งน่าจะได้ผลมากกว่า การนำเสนอใน http://kalatongbopan.gagto.com/ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
 3 ข้อเสนอแนะ
ด้านวัสดุ ควรดำเนินการ
  1. ศึกษาการใช้วัสดุชนิดใหม่ที่สามารถใช้แทนไม้ หรือใช้ไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีราคาถูกกว่า แทนที่ของเดิมที่ใช้อยู่ ทบทวนแบบผลิตภัณฑ์ว่ามีวัสดุส่วนใดสามารถลดขนาด ตัดออก หรือใช้วัสดุอื่นแทนได้ เช่น การแก้ปัญหาการต่อกันไม่สนิทของกะลาและไม้ รวมถึงการพัฒนาการบรรจุหีบห่อที่มีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าวได้
  2. จดลิขสิทธิ์รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม
ด้านแรงงาน ควรดำเนินการ
  1. พัฒนามาตรฐานการทำงาน ใช้เทคนิคทางด้านการจัดการอุตสาหกรรม เช่น การศึกษาวิธีการทำงาน การวางผังโรงงาน ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้าช่วยในการดำเนินการได้ เช่น โปรแกรมเปิดเผยรหัส (Open Source Software)
  2. นำเทคนิคการจัดกิจกรรมกลุ่มย่อย เพื่อพัฒนาคุณภาพของระบบการผลิต 
ด้านการจัดการ ควรดำเนินงาน
  1. ทำการประชาสัมพันธ์กลุ่ม ตัวผลิตภัณฑ์ สู่สากลทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยจะจัดทำเว็บไซต์เองหรือทำการการฝากข้อมูลในเว็บไซด์มาตรฐานที่เป็นที่รู้จักดี เช่น เว็บไซต์ของไทยตำบลดอตคอม (www.thaitambon.com) เพื่อสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จัก
  2. พัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้วัสดุร่วมกันได้ควบคู่ไปการผลิตผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว เช่น การพัฒนาน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น การทำถ่านจากเปลือกกะลามะพร้าว การใช้ใยมะพร้าว เป็นส่วนประกอบในการผลิตแผ่นดูซับเสียง เพื่อทดแทน พีวีซี เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์กะลาพะเยา




"เส้นทางเถ้าแก่" สัปดาห์นี้มาที่ จ.พะเยา พบกับ น.ส.จิดาภา มิ่งขวัญ มีความคิดสร้างสรรค์หยิบกะลามะพร้าวมาแปรรูปเป็นของที่ระลึกและเครื่องประดับ

ทำไมจึงคิดมาประดิษฐ์กะลา 

     "ต้นคิดเรื่องการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้จากกะลามะพร้าวไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลยแม้แต่น้อย มีอยู่วันหนึ่งกับพ่อยืนมองต้นมะพร้าวพื้นเมืองที่ขึ้นอยู่สองต้นหน้าบ้าน ถึงเวลาลูกมะพร้าวที่แก่ได้ที่จนแห้งก็ร่วงหล่นลงมาลูกแล้วลูกเล่า ทิ้งไว้ก็เสียเปล่า ทิ้งก็เป็นขยะไม่มีคุณค่าอะไรเลย มาคิดกับพ่อในตอนนั้นว่า ทำอย่างไรกับมะพร้าวที่ร่วงเหล่านี้ให้มีคุณค่าและมูลค่า เพราะจะปล่อยให้ร่วงก็เสียเปล่าเท่านั้น 

เริ่มทำจากของง่ายๆ 

      เริ่มทำจากที่ง่ายๆ เช่น กระบวย พวงกุญแจ กิ๊บติดผม ต่างหู ฯลฯ จากนั้นก็พยายามคิดและแปลงสภาพของกะลา เจาะรู ฉลุให้เป็นรูปร่างแปลกๆ จนในปี 2550 ทำอย่างจริงจังและเป็นงานอดิเรกประกอบกับเป็นคนชอบคิดสร้างสรรค์ ทำให้มีรูปแบบใหม่ๆ ออกมาบ่อย เดี๋ยวนี้ทำได้หลากหลายขึ้น เช่น ออมสินตุ๊กตากะลา โคมไฟสารพัดรูปแบบ มีทั้งตุ๊กตา ช่อทะลายมะพร้าว โคมไฟกะลากว๊านพะเยา 

งานไม่ซ้ำแบบ 
      "ความโดดเด่นของกะลาพะเยาคือ รูปแบบไม่ซ้ำใคร โดยเฉพาะกะลาที่นำมาทำเป็นโคมไฟ เช่น มะพร้าวน้ำหอมทั้งทลายนำมาทำเป็นโคมไฟสีต่างๆ หรือโคมไฟเป็นพวง กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสปานิยมนำไปตกแต่งสถานที่ สื่อถึงความเป็นธรรมชาติด้วยสีธรรมชาติของกะลามะพร้าว" 
สั่งงานต้องใจเย็น 

       "เป็นงานประดิษฐ์ที่มาจากกะลาพะเยาตรงนี้ เป็นงานฝีมือล้วนๆ มาจากภูมิปัญญา หากจะสั่งงานแล้วเร่งด้วยการกำหนดระยะเวลาคงจะทำให้งานที่ออกมามีความสมบูรณ์ได้ยาก ดังนั้น เมื่อมีสั่งเข้ามาต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าพร้อมกับขอเวลาในการทำงานพอสมควร หากต้องการงานที่มีคุณภาพและคุณค่าจากธรรมชาติจริงๆ ลูกค้าจะเข้าใจ" 
ทำคนเดียว 

      ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ต้องทำเพียงคนเดียว ตั้งแต่คัดมะพร้าว กะลา ตัดแยกชิ้นส่วน ปรับแต่งชิ้นส่วน จนถึงการประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ เนื่องจากคนงานที่เคยมีและจ้างรายวันมีน้อยลง อาจจะเพราะงานลักษณะนี้เป็นงานละเอียดต้องใช้ความอดทนสูง คนเรียนรู้และสนใจจริงๆ เท่านั้นจึงจะมาช่วยงานได้ แต่ก็พร้อมที่จะให้ความรู้กับคนที่ต้องการเสมอ 

ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม 

      "อาจจะเพราะว่างานกะลาพะเยาเป็นงานฝีมือ มีลูกค้าที่ต้องการเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างบีบรัด ธุรกิจสปาคือกลุ่มเป้าหมายที่หลายคนต้องการใช้บริการเพื่อสุขภาพ ใช้วัตถุธรรมชาติ เช่น กะลามะพร้าว จานเทียนหอม รวมทั้งตุ๊กตาใส่กำยาน ดังนั้น สภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสของกะลาพะเยา" 
     ผลิตภัณฑ์กะลาพะเยา แห่งนี้นอกจากจะเป็นภูมิปัญญาที่สร้างเอกลักษณ์แล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์มะพร้าวพันธุ์พื้นเมือง และลดปริมาณขยะ รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว สนใจติดต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ที่ 08-9516-9040 เลขที่ 133/1 หมู่ 9 บ้านทุ่งรวงทอง ต.ทุ่งรวงทอง อ.จุน จ.พะเยา 56150 



การใช้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต

การใช้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต

              การดำเนินงานดังกล่าว มีประโยชน์ต่อสังคมทั้งในด้านการศึกษา มีการสร้างเครือข่าย ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ ด้านการช่วยเหลือ/สงเคราะห์สังคม ชุมชนให้ดีขึ้น และด้านอื่น ๆ อีก เช่น  ด้านการศึกษา ได้นำความรู้ ความสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ชุมชน ให้ความรู้กับนักเรียนในระบบโรงเรียน นักศึกษานอกระบบโรงเรียน และประชาชนทั่วไป ใช้วิธีการถ่ายทอดที่หลากหลายเหมาะสมกับผู้เรียน เช่น ใช้เอกสารการเรียนรู้ การบรรยาย สื่อวีดิทัศน์ ให้ผู้เรียนศึกษาจากแหล่งเรียนรู้จริง และให้ลงมือปฏิบัติจนได้ชิ้นงานเป็นของตนเอง   ฝึกการใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องและปลอดภัย ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง เป็นตัวอย่างของผู้มาศึกษาเรียนรู้ ทั้งส่วนของนักเรียนที่มาเรียนประจำ นักศึกษา และกลุ่มสนใจมาฝึกงาน 
 

ผู้ให้ข้อมูล
1. นางเรณู ชูพิทักษณาเวช ประธานกรรมการ กลุ่มกะลามะพร้าวบ้านควนขนุน
ที่อยู่ 215 หมู่ที่ 9    ตำบลควนขนุน   อำเภอควนขนุน   จังหวัดพัทลุง   93110 โทรศัพท์ 07 4681 217 08 9657 0413 โทรสาร 07 4681  886
2. นายปลื้ม ชูคง  ประธานกลุ่มหัตถกรรมผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ตำบลชัยบุรี
ที่อยู่ 42/1 หมู่ที่ 1 ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
ผู้เก็บบันทึกข้อมูล
นางระวีวรรณ โพธิ์วัง ครูเชี่ยวชาญ
สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา

วิธีการผลิตโคมไฟ จากกะลามะพร้าว

วิธีการผลิตโคมไฟ จากกะลามะพร้าว

ขั้นตอนที่ 1 คัดเลือกมะพร้าว
            1. คัดเลือกมะพร้าวสำหรับทำดอกไม้กะลามะพร้าว ใช้กะลาแก่จัดทรงกลมเนื้อหนา ขนาดเส้นผ่า ศูนย์กลาง ประมาณ 12 ซม.
            2. คัดเลือกมะพร้าวสำหรับทำเกสรใช้กะลาแก่ลูกเล็ก (ซึ่งหายากพอสมควร) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 – 6 ซม. จำนวน 5 ใบ
หมายเหตุ   ใช้กะลาทั้งหมดประมาณ 15 ลูก ในการทำดอกไม้โคมไฟเพื่อปักแจกัน

ขั้นตอนที่ 2 ขัดผิวกะลา
            นำกะลาที่คัดแล้ว ขูดขุยให้เกลี้ยงตัดด้านบนเพื่อนำน้ำและเนื้อมะพร้าวออกให้เหลือเฉพาะเนื้อกะลา ต่อ จากนั้นนำไปขัดด้วยกระดาษทราย ขนาดเบอร์ 150 และ 320 ให้ผิวกะลาเรียบทั้งในและนอกตัวกะลา

ขั้นตอนที่ 3  ทำกลีบดอกไม้
           1. นำกะลาที่ขัดผิวแล้วทั้งลูกมาวาดลวดลายกลีบดอก (ดอกชบา) จัดฟอร์มดอกไม้ให้เท่ากัน และสวยงาม ดอกไม้ 1 ดอกใช้กะลา 2 ลูก ขนาดลดหลั่นกัน เพื่อทำกลีบดอก กลีบใน กลีบนอก
           2. เจียรกะลาตามลายกลีบดอกที่วาดไว้ กรีดกลีบดอกพร้อมเส้นก้านกลีบให้มีศิลปะ (เหมือนดอก ไม้จริง)
           3. นำกลีบดอกไม้ที่วาดลาย มาเจาะรูลายดอก พร้อมทั้งเจาะกรีดลายกลีบดอกด้วยเลื่อยเล็ก เพื่อความสวยงามและความอ่อนช้อยในงานศิลปะ

ขั้นตอนที่ 4 ทำฐานดอกไม้
           นำไม้มะพร้าวหรือไม้เนื้อแข็งหนา ประมาณ ½ ซม. เจียรเป็นรูปทรงกลมเจาะรู้ตรงกลางกะขนาดให้พอดีกับฐานหลอดไฟ ประกอบชุดหลอดไฟฟ้าได้

ขั้นตอนที่ 5 ทำตัวดอกไม้ (ดอกชบากะลามะพร้าว)
           นำฐานดอกไม้และกลีบดอกชบาแต่ละชุดมาประกอบเป็นดอกชบากลีบชั้นในใช้กะลาขนาด
เล็ก กลีบชั้นนอกใช้กะลาขนาดใหญ่กว่า สลับกลีบดอกให้มีศิลปะสวยงามนำส่วนประกอบทุกขั้นตอนมาประกอบเป็นโคมไฟจะได้โคมไฟกะลามะพร้าวที่สวยงาม 


        
        
                                                     

กระบวนการทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว

กระบวนการทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว

1. การออกแบบ

                การออกแบบ เป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในการทำผลิตภัณฑ์และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ทุกชนิด ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1.1  หน้าที่ใช้สอย ควรให้มีหน้าที่ใช้สอยถูกต้องตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สนองความต้องการของผู้ใช้
1.2 ความแข็งแรงของโครงสร้าง เป็นความแข็งแรงที่เกิดจากโครงสร้างของเครื่องใช้ ซึ่งกะลา มะพร้าว จะมีรูปลักษณะตามผลมะพร้าวที่เกิดจากพันธุ์มะพร้าว ดังนั้นในการออกแบบจำเป็นต้องเลือกพันธุ์ ชนิด อายุของกะลามะพร้าวด้วย เพราะมะพร้าวบางพันธุ์กะลาจะมีความเปราะ แตกหักง่าย เช่น มะพร้าวพันธุ์น้ำหอมกะลาจะเปราะบาง
1.3 ความสวยงามน่าใช้ เป็นลักษณะของรูปร่าง ขนาด สี แบบน่าใช้สวยงามชวนให้ต้องการใช้ อยากซื้อ
1.4 ซ่อมแซมง่าย เป็นการออกแบบให้ซ่อมแซมแก้ไขได้ง่าย ไม่ยุ่งยากที่จะต้องบำรุงรักษาเมื่อเกิดการชำรุดเสียหาย
1.5 ราคา ต้องคำนึงถึงผู้บริโภคว่าเป็นบุคคลกลุ่มใด มีกำลังการซื้อมากน้อยเพียงใด ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จะได้รับความนิยม และชื่นชอบในลักษณะใดซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดถึงราคาจำหน่ายด้วย
1.6 กรรมวิธีการผลิต เป็นเครื่องชี้บอก และกำหนดการออกแบบอยู่มาก ในการทำเครื่องใช้จากกะลามะพร้าว เพราะส่วนใหญ่ยังจัดเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานคนผลิตอยู่มาก
1.7 ความปลอดภัย เครื่องใช้ทุกชนิดจำเป็นต้องให้ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค วัสดุ
ที่นำมาประกอบในการผลิต ต้องปลอดภัยต่อการใช้ เช่น ไม่มีเชื้อรา วัสดุยึดชิ้นส่วนต้องไม่เป็นสารพิษละลายออกมา
1.8 การเก็บรักษา รวมถึงการทำความสะอาดซึ่งต้องทำภายหลังจากใช้งานแล้วด้วยการล้าง เก็บให้ถูกสุขลักษณะ ประหยัดเนื้อที่ สะอาดอยู่เสมอ กะลามะพร้าวมีคุณสมบัติที่ดี คือล้างทำความสะอาดง่าย แต่ไม่สามารถนำไปตากแดดจัดได้นาน ๆ ดังนั้น การเก็บเครื่องใช้จากกะลามะพร้าวควรเก็บในที่โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก
ปัจจัยที่ผู้ออกแบบจำเป็นต้องคำนึงถึงในการออกแบบดังกล่าวนี้ จะเป็นเครื่องช่วยผลักดัน และส่งเสริมให้มีผลงานรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีความคิดสร้างสรรค์ มีคุณภาพ เป็นที่สนใจของผู้บริโภค แต่เครื่องใช้จากกะลามะพร้าวหนึ่งอย่าง อาจไม่ต้องประกอบด้วยปัจจัยทุกข้อที่กล่าวมาก็ได้ จะมีส่วนประกอบของปัจจัยเพียง 3 ข้อก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแบบที่ช่วยสร้างความสมบูรณ์ คุณภาพ ประสิทธิภาพในการใช้งานและยังแสดงถึงความคิดริเริ่มอีกด้วย ปัจจัยเพียง 3 ข้อ ก็เพียงพอต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นได้
วัสดุ อุปกรณ์
             เครื่องใช้จากกะลามะพร้าวจะมีความสวยงาม มีสัดส่วน มีคุณค่า มีราคาและใช้เวลาในการผลิตมากน้อยเพียงใด เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบจะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในการทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวมีดังนี้
1 เลื่อยใช้ตัดวัสดุต่าง ๆ เลื่อยที่นิยมใช้กันได้แก่เลื่อยตัดเหล็ก เนื่องจากกะลามะพร้าวมีความเหนียวและต้องการความละเอียด ควรเลือกใช้ชนิดฟันละเอียด 20-32 ซี่ ต่อนิ้ว เลื่อยรอใช้ในการตัดไม้เล็ก ๆ ผ่าเดือย ใช้เลื่อยรอปากไม้ และส่วนที่ต้องการความละเอียดประณีตเลื่อยฉลุ เป็นเลื่อยที่ใช้ในงาน ตัด เจาะวงกลมและส่วนโค้งต่าง ๆ
2 สว่าน เป็นอุปกรณ์เจาะรูเพื่อใส่สลักยึดชิ้นส่วน หรือเจาะพื้นผิวของกะลาก่อนใช้เลื่อนฉลุฉลุลาย  สว่านที่นิยมใช้กัน ได้แก่ สว่านมือ และสว่านไฟฟ้า บุ้ง ใช้ตกแต่งชิ้นงาน มีลักษณะเหมือนตะไบ ที่นิยมใช้กันอยู่มี 3 ขนาด ได้แก่ บุ้งแบน บุ้งท้องปลิง  บุ้งกลม
3. เครื่องขัด (มอเตอร์หินเจีย) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้รวดเร็ว เหมาะสำหรับผู้ที่มีความชำนาญในการใช้เครื่องและมีทักษะในการทำงานพอสมควร  ที่เครื่องขัดจะมี 2 หัว (ด้านที่ขัด) สามารถนำมาดัดแปลงใช้งานได้หลายลักษณะ เช่น ใช้ขัดผิวภายนอก ขัดภายใน ใช้ตัด เป็นต้น
4. เครื่องมือวัด ใช้วัดระยะทั่ว ๆ ไป เช่น ไม้บรรทัด สายวัด ฉากเหล็ก เครื่องมือแคะเนื้อมะพร้าวและขูดผิวกะลาด้านใน
5. เหล็กแทง เป็นอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง  ทำหน้าที่งัด  หรือแทงให้เนื้อมะพร้าวออกไดสะดวก
6. เหล็กขูดผิวกะลาด้านใน ประดิษฐ์เอง ใช้ขูดผิวกะลามะพร้าวด้านใน สามารถขูดในที่แคบ ๆ และลึกได้
7. วัสดุยึด คือ กาวชนิดต่าง ๆ ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของงาน ที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป ได้แก่ กาวลาเท็กซ์  กาวยาง  กาวตราช้าง
8. ค้อน เป็นอุปกรณ์ใช้ตอก ไม่ค่อยใช้กับการทำผลิตภัณฑ์โดยตรง แต่เป็นเครื่องมือช่วยประกอบ
9. กระดาษทราย ใช้ขัดผิดภายนอกของกะลาให้เรียบเป็นมัน ถ้าทำเป็นจำนวนมากขัดด้วยเครื่องขัดและปัดด้วยเครื่องขัดเพื่อให้เกิดผิวมันวาว ส่วนมากจะใช้ดินขัดเป็นตัวช่วย
10. อื่น ๆ เช่น ปากกา ดินสอ ยางลบ กระดาษ เป็นต้น

กลุ่มหัตถกรรมผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ตำบลชัยบุรี

กลุ่มหัตถกรรมผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ตำบลชัยบุรี

ประวัติความเป็นมา

                 นายปลื้ม ชูคง เป็นผู้มีความถนัดในงานหัตถกรรมตั้งแต่เรียนจบชั้นประถมศึกษา โดยได้ทำเครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ทำตะกร้า ไม้กวาด ด้ามจอบ คันไถ วาดรูปหนังตะลุง ฯลฯ แล้วนำไปขายตามหมู่บ้าน งานวัดทั่วไป ต่อมาในปี 2525 ได้นำกะลามะพร้าวมาคิดประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนไม่กี่ประเภท เช่น ทัพพี ตะหลิว กระบวยตักน้ำ จวัก ฯลฯ และในปีนี้ได้มีเจ้าหน้าที่จากเคหะกิจเข้ามาให้การอบรมส่งเสริม ต่อมาในปี 2526 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง   ได้เข้ามาแนะนำ ส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน    นายปลื้มได้เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ประชาชนและได้ชักจูงให้ประชาชนในหมู่บ้านเข้ามาร่วมมือสร้างผลงานหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว และตั้งเป็นกลุ่มหัตถกรรมกะลา มะพร้าวขึ้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง มีสมาชิกเดิม 16 คน ในปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า  200  คน และได้รับรางวัลดังนี้
1. ได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของใช้ ของที่ระลึกที่ทำจากกะลามะพร้าว ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 14 พฤกษาคม 2532
2. ได้รับรางวัลที่ 2 งานประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรม อุตสาหกรรมไทยของจังหวัดสงขลา เมื่อ 9 มิถุนายน 2532
3. ได้รับโล่รางวัลการประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของใช้ของที่ระลึกจากกะลามะพร้าวจาก สำนัก งานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2532
4. ได้รับรางวัลชมเชยภาคใต้ ในงานหัตถกรรม อุตสาหกรรมทั่วไปครั้งที่ 3 ที่สวนอัมพร มิถุนายน 2533 โดยมีตลาดจำหน่ายผลผลิต ดังนี้
1.  ภายในประเทศ มีการสั่งซื้อจากจังหวัดต่าง ๆ โดยทั่วไป
2.  ภายนอกประเทศ ประเทศที่สั่งซื้อ ได้แก่   แคนาคา ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อิตาลี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เยอรมัน ฝรั่งเศส สิงคโปร์ สวีเดน นิวซีแลนด์ 

        
        

กลุ่มกะลามะพร้าวบ้านควนขนุน

 กลุ่มกะลามะพร้าวบ้านควนขนุน
 
ประวัติความเป็นมา
              นายสาธิต ชูพิทักษณาเวช เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์คิดค้นเครื่องคว้านไม้ เครื่องคว้านกะลามะพร้าว เครื่องเจาะต่าง ๆ เครื่องตัด เครื่องกลึง เครื่องสลัก ฯลฯ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตและจัดหารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกะลามะพร้าว และไม้เพื่อให้ได้คุณภาพเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ต่อมาในปี 2544 นางเรณู   ชูพิทักษณาเวช ภรรยาของ นายสาธิต ได้เล็งเห็นว่า กะลามะพร้าวเป็นวัสดุเหลือใช้มากมายมีอยู่ในพื้นที่อำเภอใกล้เคียง สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้จึงเกิดแรงบันดาลใจ ร่วมคิด ร่วมทำ กับสมาชิกตามนโยบายรัฐบาลภายใต้โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)จัดตั้งเป็นกลุ่มกะลามะพร้าวบ้านควนขนุนขึ้น มีสมาชิกริเริ่มอยู่  8  คน ปัจจุบันมีสมาชิก 45 คน ตั้งอยู่เลขที่ 215  หมู่ที่ 9  บ้านควนขนุน ตำบลควนขนุน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 93110 โทรศัพท์  0 7468 1217 โทรสาร 0 7468 1886   และได้รับรางวัลดังนี้
1. ได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ระดับห้าดาว ปี 2549
2. รางวัลภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการศึกษานอกโรงเรียนดีเด่นปี 2549 จากสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน
3. รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการเกษตรที่ ไม่ใช่อาหาร “วัสดุเหลือใช้ของมะพร้าว” ประเภทผลิตภัณฑ์ที่ระลึกและตกแต่งบ้านในงานเกษตรแฟร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2550
4. เป็นแหล่งเรียนรู้ผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าวรูปแบบใหม่ ของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนโดยมีตลาดจำหน่ายผลผลิต ดังนี้
1. ในประเทศ   ศูนย์  OTOP จังหวัดนครศรีธรรมราช  ตรัง  สงขลา  สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต  กระบี่  พัทลุง  สวนจตุจักร ฯลฯ
2. ต่างประเทศ ประเทศมาเลเซีย และประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ บริษัท สวีสซีซัน บริษัทบาซาร์ บริษัทโอทุ  เป็นต้น